
เมื่อประเทศไทย เข้าสู่วัยชรา
ประเทศไทย กำลังเผชิญปัญหาการเพิ่มจำนวนของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ จะส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขภายในประเทศไทย ซึ่งคาดว่า ภายในปี 2030 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ในบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ผลกระทบ และกลยุทธ์ในการรับมือ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และในส่วนของภาคงานอสังหาริมทรัพย์
1. การเปลี่ยนแปลงทางประชากรของประเทศไทย
ประชากรสูงอายุของประเทศไทยเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญสองประการ ได้แก่ อัตราการเกิดที่ลดลง และอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างมาก จาก 6.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน
ในช่วงทศวรรษ 1960 เหลือเพียง 1.5 คนในปี 2023 ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพและมาตรฐานการครองชีพทำให้มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 77 ปี แนวโน้มเหล่านี้ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานลดลงและกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
2. รูปแบบสังคมเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ Super Aged-Society
องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้คำนิยามผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย หมายถึง ประชากรเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และแบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้ 3 ประเภทคือ
- ระดับก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ
- ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ
- ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประเทศ

สถิติปัจจุบัน
ณ ปี 2023 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2030 คาดว่าจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรสูงอายุเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชนบทมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นฐานไปยังศูนย์กลางเมืองเพื่อหางานทำ
ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
1. แรงงานหดตัว
เนื่องจากมีคนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง ประเทศไทยจึงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลผลิต
2. การให้บริการบางอย่างจะลดจำนวนลง
เมื่อประชากรลดลงจะทำให้คนซื้อสินค้า คนขายสินค้า คนขนส่งสินค้าลดลง สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริการต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนจะลดลง และอาจปิดตัวไป
3. ต้นทุนการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น
เนื่องจากการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับโรคเรื้อรัง ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคกระดูก โรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงเป็นต้น ซึ่งจำนวนในการเข้ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ระบบสาธารณสุข จำเป็นจะต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแล ผู้สูงอายุให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
4. ระบบบำนาญ
โดยเฉพาะระบบประกันสังคมและบำนาญของประเทศไทย เช่น ข้าราชการวัยเกษียณ หรือพนักงานรัฐวิสากิจ ที่เกษียณ ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศไทย ยังขาดการเก็บเงินออมหลังเกษียณ หวังเพียงให้ลูกหลานช่วยเลี้ยงดูในยามแก่เฒ่า ตามความเชื่อเดิมของสังคมไทย

ผลกระทบทางสังคม
1. ภาระการดูแลผู้สูงอายุ
โครงสร้างครอบครัวแบบดั้งเดิมที่ลูก ๆ ดูแลพ่อแม่ที่อายุมากกำลังลดจำนวนลง เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและบรรทัดฐานทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนนิยมอยู่กันแบบครอบครัวเล็ก ๆ พ่อ แม่ ลูก เพื่อประหยัดค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ในแต่ละปี ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวหรืออยู่ในสถานดูแลเพิ่มมากขึ้น
2. ความโดดเดี่ยวทางสังคม
ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องเผชิญกับความเหงาและปัญหาสุขภาพจิต ที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากการขาดการเชื่อมโยงทางสังคม ไม่ได้มีการพูดคุย พบปะสังสรรค์ กับผู้คนในชุมชน เหมือนกับผู้คนในวัยทำงาน
3. ภาระในการจ่ายภาษีเพื่อดูแลผู้สูงอายุ
คนรุ่นใหม่วัยทำงาน อาจต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุผ่านอัตราภาษี และความรับผิดชอบในการดูแล ซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างวัยสูงอายุ กับวัยทำงานได้
4. โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุ
พื้นที่สาธารณะ การขนส่ง และที่อยู่อาศัยมักไม่ได้รับการออกแบบให้รองรับความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น ระบบการขนส่งสาธารณะ ที่ไม่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ของผู้สูงอายุ
รวมถึงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่จำกัดในพื้นที่ชนบท ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทมักประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพเนื่องจากอุปสรรคทางภูมิศาสตร์และปัญหาทางการเงิน

กลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
สามารถดูต้นแบบการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุได้จากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุจำนวนสูงสุดแล้ว โดยแบ่งเป็นภาคส่วน ดังนี้
ภาครัฐบาล
1. การขยายความคุ้มครองเงินบำนาญและการสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับพลเมืองสูงอายุทุกคน ส่งเสริมบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุ จัดหาบริการสาธารณะที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ เช่น บริการจัดหารถวีลแชร์ ปรับปรุงระบบรถไฟฟ้า รถเมล์ รถแท็กซี่สาธารณะที่เอื้อต่อการใช้บริการของผู้สูงอายุ บริการให้ความรู้เรื่องอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการของวัยสูงอายุ หรือบริการอาบน้ำให้ผู้สูงอายุจากพยาบาลมืออาชีพ การให้บริการซื้อของให้กับผู้สูงอายุ ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถขับรถยนต์ได้ด้วยตนเอง บริการนวดผ่อนคลาย สปาผู้สูงอายุ บริการนำสัตว์เลี้ยงมาให้ผู้สูงอายุได้มีปฏิสัมพันธ์ เพื่อช่วยคลายเหงา บริการตัดผมฟรีให้กับบ้านพักคนชรา บริการนำเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ จัดการแข่งขันเกมระหว่างผู้สูงอายุระหว่างบ้านพักคนชรา หรือในจังหวัดอื่น ๆ เป็นต้น
2.จัดตั้งศูนย์จัดหางานให้กับผู้สูงอายุในท้องถิ่น จุดประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน เพิ่มความกระฉับกระเฉง ให้ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับสังคม จะช่วยส่งเสริมกำลังใจ ให้รู้สึกว่าถึงแม้จะเป็นผู้สูงอายุแต่ก็ยังมีคุณค่า
3. การสนับสนุนให้แต่ละบุคคลออมเงินสำหรับเกษียณอายุและลงทุนในความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ ปลูกจิตสำนึก สร้างแนวความคิดใหม่ ให้คนไทยรู้จักการออมสำหรับวัยเกษียณ ไม่ต้องรอให้ลูกหลานเลี้ยง
4. บริการดูแลสุขภาพทางไกล ปรับปรุงการเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบท โดยรัฐอาจจะจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปที่ห่างไกล ในชนบท และรัฐให้เงินสนับสนุน สำหรับหมอ หรือพยาบาล จิตอาสา ที่เสียสละเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล

ภาคเอกชน
พัฒนาระบบ digital care เช่น ส่งเสริมให้มีการผลิตหุ่นยนต์ ที่ช่วยผู้สูงอายุในการยกของ หุ่นยนต์ที่ให้ความรู้กับผู้สูงอายุ เทคโนโลยีช่วยฟื้นฟู หรือชะลอความเสื่อมของระบบสมอง เทคโนโลยีนี้จะเป็นประโยชน์มาก สำหรับผู้สูงอายุที่มีความรู้ ความสามารถ มาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอด ผสมผสานความรู้ระหว่าง สังคมเดิม กับสังคมใหม่
เทคโนโลยีการตรวจหาโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยเครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์ เทคโนโลยีในการผ่าตัด เปลี่ยนข้อต่อ เข่า สะโพก เลนส์กระจกตา หรือเครื่องช่วยฟัง ที่มีคุณภาพ บาดเจ็บน้อย ใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ที่สำคัญ ราคาต้องสามารถเข้าถึงได้
ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
1. ความต้องการที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
สภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบันในประเทศไทย เป็นการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับวัยทำงาน ทั่วไป ที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ได้มีอุปกรณ์หรือฟังก์ชั่น ที่จะช่วยให้การอยู่อาศัยของผู้สูงอายุสะดวก สบาย หรือปลอดภัย
2. ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณ
ผู้เกษียณอายุมักมีรายได้ที่แน่นอน หรือรายได้น้อย ไม่สามารถซื้อบ้านได้ หากว่าไม่ได้มีการซื้อไว้ในช่วงวัยทำงาน หรือไม่ได้มีลูกหลานซื้อไว้ให้

โอกาสสำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
1. สร้างหมู่บ้านเพื่อผู้สูงอายุ โดยออกแบบบ้านให้ผสมผสานคุณลักษณะต่างๆ เช่น ประตูกว้าง มีราวจับเป็นระยะๆ ทางลาดสำหรับรถเข็น และเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะเพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น
การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บริการดูแลสุขภาพ กิจกรรมทางสังคม จัดสภาพแวดล้อมให้ใกล้ชิดธรรมชาติ มีสวนหย่อมให้ออกกำลังกายภายในหมู่บ้าน มีตึกพยาบาลขนาดเล็ก และพยาบาลสำหรับช่วยดูแล ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยในเบื้องต้น
2. จัดโปรแกรมเพื่อสุขภาพ เช่น โยคะผู้สูงอายุ นักโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ นักบำบัดจิตสำหรับผู้สูงอายุที่มีความเหงา คิดถึงลูกหลาน จัดกิจกรรมให้นำสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข เข้ามาเล่นกับผู้สูงอายุ
3. เสนอข้อตกลงในการเช่าที่พักอาศัย ที่ราคาไม่แพง เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มีรายได้คงที่
4. ใช้เทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เช่น ระบบไฟอัตโนมัติ ระบบควบคุมอุณหภูมิ และระบบตรวจจับการล้ม

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และองค์กรไม่แสวงหากำไรถือเป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของประชากรสูงอายุของประเทศไทย โดยอาจเริ่มจาก
1. สร้าง แรงจูงใจสำหรับผู้พัฒนาด้วย การลดหย่อนภาษีหรือเงินอุดหนุนสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการพักอาศัยต่อผู้สูงอายุ
2. การสนับสนุนนโยบาย ในการวางผังเมือง สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับผู้สูงอายุ
3. ร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาอสังหา ราคาประหยัด สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

บทสรุป
ความร่วมมือระหว่างภาคอสังหาริมทรัพย์และภาครัฐเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้สูงอายุได้มีที่อยู่อาศัยที่ออกแบบมาเพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัย ขณะที่ลูกหลานก็อุ่นใจที่สามารถดูแลบุพการีได้อย่างดีที่สุด ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองก็มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ไม่ต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุเพียงลำพัง แต่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการสร้างระบบดูแลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน